วันเสาร์ที่ 30 เมษายน พ.ศ. 2554

ปราสาทตาควาย อีกหนึ่งจุดยุทธศาสตร์การปะทะ ไทย-กัมพูชา


ปราสาทตาควาย อีกหนึ่งจุดยุทธศาสตร์การปะทะ ไทย-กัมพูชา

ปราสาทตาควาย


          เมื่อช่วงเช้าตรู่ ของวันที่ 22 เมษายนที่ผ่านมานั้น ทางทหารกัมพูชา ได้เปิดฉากยิงปะทะกับทหารไทย ที่บริเวณปราสาทตาเมือนธม  และปราสาทตาควาย  ซึ่งตั้งอยู่ที่บ้านหนองคันนา อ.พนมดงรัก จ.สุรินทร์ มาจนถึงวันนี้ (26 เมษายน) การปะทะระหว่างทหารไทย และทหารกัมพูชาที่บริเวณปราสาทตาเมือนธม และปราสาทตาควาย ก็ยังมีอยู่เป็นระยะ ๆ อย่างไรก็ตาม พอเอ่ยชื่อ ปราสาทตาควาย หลายคนอาจจะสงสัยว่า ปราสาทตาควาย ตั้งอยู่ในจุดไหนของชายแดนไทย-กัมพูชา วันนื้ ทีมงานกระปุกขอพาทุก ๆ ท่านไปทำความรู้จักกับ ปราสาทตาควาย ซึ่งเป็นอีกหนึ่งจุดยุทธศาสตร์ของการปะทะครั้งนี้
          ปราสาทตาวาย (ปราสาทตาควาย) หรือ  "ปราสาทตากระเบย" (ในภาษาเขมร กระเบย/กรอเบย หมายถึง ควาย)  ตั้งอยู่บนสันเขาห่างจากหน้าผา สูงประมาณ 10 เมตร ของเทือกเขาพนมดงรัก ที่บริเวณช่องตาควาย ในเขตบ้านไทยนิยมพัฒนา หมู่ 17 ต.บักได อ.พนมดงรัก จ.สุรินทร์  โดยปราสาทตาควายเป็นปราสาทหินศิลาแลง  หันหน้าไปทางทิศตะวันออก  สำหรับผังของปราสาทนั้น เป็นรูปกากบาท มีส่วนฐานต่ำ ส่วนล่างสุดก่อด้วยศิลาแลง ส่วนบนก่อด้วยศิลาทรายทั้งหมด หลังคาห้องครรภคฤหะ ก่อเป็นทรงพุ่มยอดปรางค์ ซ้อนลดหลั่นกันขึ้นไป 5 ชั้น ส่วนหลังคามุขก่อเป็นรูปประทุน จรดหน้าบันทั้ง 4 ด้าน ภายในห้องมีประติมากรรม ลักษณะคล้ายสวายยัมภูวลึงค์ 1 ชิ้น นอกจากนี้  ปราสาทตาควายยังเป็นปราสาทหลังเดียวโดด ๆ  ไม่มีอาคารประกอบอื่น ๆ ทำให้เชื่อว่า ปราสาทตาควาย เป็นปราสาทที่ยังสร้างไม่เสร็จสมบูรณ์ดังเช่นปราสาทอื่น ๆ

ปราสาทตาควาย อีกหนึ่งจุดยุทธศาสตร์การปะทะ ไทย-กัมพูชา


          และด้วยความที่ปราสาทตาควาย ยังสร้างไม่เสร็จสมบูรณ์ เพียงแต่ทำการก่อขึ้นรูปไว้เท่านั้น  ยังมิได้มีการขัดแต่งผิวหิน หรือ แกะสลักลวดลายใด ๆ  จึงทำให้ปราสาทตาควายยังคงรูปอยู่ได้  โดยไม่ถูกทำลายหรือถูกลักลอบกะเทาะชิ้นส่วนต่าง ๆ ไป เช่นที่เกิดขึ้นกับปราสาทอื่น ๆ ตามแนวชายแดน และการที่ไม่ปรากฏลวดลายอย่างหนึ่งอย่างใดเลยนี้ ทำให้กำหนดอายุปราสาทตาควายได้แต่เพียงกว้าง ๆ โดยการดูจากรูปทรงของตัวปราสาททำให้คาดว่า น่าจะอยู่ในราวช่วงปลายสมัยนครวัด ตอนต้นสมัยบายน หรือรัชกาลพระเจ้าสุริยวรมันที่ 2 ถึงรัชกาลพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 นั่นเอง
          ทั้งนี้ พื้นที่ตั้งของ ปราสาทตาควาย ยังเป็นพื้นที่ที่มีปัญหาการแบ่งเส้นเขตแดนที่ยังไม่ได้เจรจากันในคณะกรรมการปักปันเขตแดน  ประกอบกับไม่ได้มีการหยิบยกขึ้นมาพูดหรือเรียกร้องเหมือนกรณีปราสาทพระวิหาร ฉะนั้น จึงมีการตกลงร่วมกันระหว่างไทยกับกัมพูชา เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาขึ้นของทั้ง 2 ฝ่าย คือ ใช้เป็นจุดประสานงานร่วมกัน ทำให้ประชาชนสามารถไปเยี่ยมชมความงดงามของปราสาทตาควายได้ โดยการเดินเท้าเข้าขึ้นไปที่ปราสาทตาควาย ด้วยระยะทาง 1  กิโลเมตร โดยมีกองร้อยทหารพราน ที่ 2602 และกองร้อยทหารพรานที่ 2606 หน่วยเฉพาะกิจกรมทหารพรานที่ 26 กองกำลังสุรนารี กองทัพภาคที่ 2 จัดกำลังเจ้าหน้าที่ทหารพราน เข้าดูแลพื้นที่ เพื่ออำนวยความสะดวกแก่นักท่องเที่ยว
          แม้วันนี้สถานการณ์การปะทะระหว่างไทย – กัมพูชา ที่บริเวณปราสาทตาควายยังไม่สงบลง  และยังไม่รู้ว่าจะยุติเมื่อไหร่ แต่ประชาชนตามชายแดน และรอบพื้นที่ปราสาทตาควายก็ได้แต่หวังว่าสถานกาณ์จะคลี่คลายได้ในเร็ว ๆ นี้ และ เชื่อว่า หากเหตุการณ์สงบลง ปราสาทตาควาย น่าจะเป็นอีกหนึ่งสถานที่ท่องเที่ยวทางโบราณคดีที่จะได้รับความนิยมอย่างล้นหลามทั้งจากนักท่องเที่ยวกัมพูชาและไทยแน่นอน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น